ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มจำนวนขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากราคาของรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่ถูกลงจากการสนับสนุนของทางภาครัฐ อีกทั้งราคาค่าใช้จ่ายในการเดินทางของรถยนต์ไฟฟ้านั้นถูกกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเกือบ 3 เท่ากันเลยทีเดียว อีกทั้งค่าใช้จ่ายในบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าต่อรอบ (ทุก 10,000 กม. เช่นเดียวกับรถเครื่องยนต์สันดาป) ถูกกว่า 5 - 6 เท่ากันเลยทีเดียว
เมื่อจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างนึงเลยนั่นก็คือ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger นั่นเอง แน่นอนว่าในปัจจุบัน หลายๆค่าย มักจะแถมเครื่องชาร์จมาพร้อมกับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมนั้น ก็คือการตรวจสอบขนาดมิเตอร์ และขนาดสายไฟว่าบ้านที่เราจะทำการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้น ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามที่การไฟฟ้าแนะนำหรือไม่ (รายละเอียดสามารถอ่านได้จากบทความก่อนหน้า หรือ Click เพื่อรับชมแบบวิดีโอ) และจากนั้นจึงเลือกจุดที่จะทำการติดตั้งเครื่องชาร์จตามความเหมาะสมของพื้นที่ และลักษณะทางกายภาพของรถยนต์ไฟฟ้าของเรา (บางรุ่นจุดชาร์จ อยู่หน้ารถ บางรุ่นอยู่ด้านข้าง ซ้ายหรือขวา เป็นต้น)
ด้วยจำนวนเครื่องชาร์จที่ต้องติดตั้ง มีปริมาณมาก ทำให้ช่างไฟฟ้าที่มีความเข้าใจเรื่องเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงอาจจะต้องเรียกใช้บริการช่างไฟฟ้าทั่วไปเพื่อมาติดตั้งหรือเดินระบบไฟฟ้าให้รองรับกับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟ้ฟ้าของเรา
แน่นอนว่าช่างไฟฟ้าทั่วไปก็สามารถติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ หากมีความเข้าใจใน Spec ของเครื่องชาร์จ แต่เพื่อความมั่นใจของเจ้าของบ้าน ก่อนจะนัดหมายช่างไฟฟ้า ไม่ว่าจะช่างไฟฟ้าทั่วไป หรือ ช่างไฟฟ้าที่แจ้งว่าเป็นช่าง EV Charger นั้น โปรดสอบถามถึงใบรับรองช่างไฟฟ้าที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสียก่อน
บทความนี้เราจะมาพูดถึงว่า ทำไมถึงต้องใช้บริการช่างไฟฟ้าที่มีใบรับรองนี้กันครับ
ประกาศกระทรวงแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่ แก้ไขเพิ่มเติม ให้สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หากฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีหนังสือรับรองจะมี ความผิดตามกฎหมาย
โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ส่วนนายจ้างที่ฝ่าฝืนจ้างช่างไฟฟ้าภายในอาคารที่ไม่มี หนังสือรับรองเข้าทำงาน โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา กฏหมายฉบับนี้ประกาศออกมา ควบคุมผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าทุกคน (ยกเว้นผู้ที่จบวิศวะฯ และมีใบ กว ช่างไฟฟ้ากำลัง)
งานใดบ้างที่ต้องขอ license ช่างไฟฟ้า
1. งานใช้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน
2. งานเดินสายไฟฟ้าด้วยเข็มขัดรัดสาย
3. งานเดินสายไฟฟ้าด้วยท่อร้อยสาย
4. งานติดตั้งและต่อวงจรไฟฟ้าสำหรับบริภัณฑ์ไฟฟ้า
5. งานต่อตัวนำไฟฟ้าแบบต่าง ๆ
6. ตรวจสอบการทำงานของวงจรไฟฟ้า
ผู้ที่จะขอ license ช่างไฟฟ้า ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
1. ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารระดับ 1
2. มีประสบการณ์การทำงานในสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารอย่างน้อย1 ปี
3. มีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่เหมาะสมในสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
สาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะตามกฎหมายคือใคร
ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ1 หมายถึง ช่างซึ่งประกอบอาชีพในงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร แรงดันไฟฟ้ากระแสสลับไม่เกิน 1,000 โวลต์ สำหรับระบบไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส หรือใช้กับไฟฟ้า กระแสตรงไม่เกิน 1,500 โวลต์และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร การแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และการตรวจสอบระบบไฟฟ้าโดยสามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงการใช้เครื่องมือ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ภายในอาคาร และ หลักการใช้ทั่วไปของเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยได้ตามความสามารถในระดับชั้นที่ 1
ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ2 หมายถึง ช่างซึ่งประกอบอาชีพในงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารและการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง
ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ3 หมายถึง ช่างซึ่งประกอบอาชีพในงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารและการตรวจสอบระบบไฟฟ้า
เมื่อทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นแล้ว ก่อนที่ทุกท่านจะติดต่อช่างไฟฟ้า ไม่ว่าจะเพื่องาน EV Charger หรืองานระบบไฟฟ้าทั่วไปก็ตาม อย่าลืมถามหาใบรับรองเพื่อความปลอดภัย และเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดกันนะครับ