การขอมิเตอร์สำหรับติด EV Chager

                  สวัสดีครับ เพื่อนๆที่ติดตามเพจ Captain DIY ไม่ว่าจะช่องทาง YouTube หรือ Facebook FanPage วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาอ่านบทความผ่านทาง Website กันบ้างนะครับ 

                  บทความนี้เกริ่นมาสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของการเตรียมระบบไฟฟ้า แต่ยังสับสนว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไรดี หรือไปเจอใน Social มา เห็นเค้าทำวงจรที่สองกัน บางคนก็มีมิเตอร์เพิ่มอีกลูกสำหรับชาร์จรถไฟฟ้าได้ แต่ไม่รู้ว่าแล้วบ้านเราจะทำแบบไหนดี หรือ ทำแบบไหนได้บ้าง  อันที่จริงผมมีคลิปที่อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดใน Youtube นะครับ แต่เผื่อใครไม่ชอบดูเป็นคลิป ชอบอ่านมากกว่า ก็สามารถมาติดตามจากบทความนี้ได้เลยนะครับ

                 สำหรับท่านที่อยากจะดูเป็นคลิป แต่อาจจะพลาดการดูจากทางช่อง Youtube ของผมไป ก็สามารถกดเข้าไปตาม link นี้ได้เลยนะครับ   ารขอมิเตอร์สำหรับเตรียมติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

               ก่อนอื่นขอย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่ทางการไฟฟ้าทั้ง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะออกระเบียบการทำระบบไฟฟ้าสำหรับติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมานั้น การเดินระบบไฟฟ้า ก็จะต้องทำตามข้อกำหนดของการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าปกติตามบ้านทั่วไป กล่าวคือ หากบ้านเรามิเตอร์ไฟฟ้า (ที่ไม่ใช่หม้อไฟ)ขนาด 15(45) นั่นหมายความว่า เราจะสามารถใช้โหลดไฟฟ้ารวมในบ้านได้ไม่ควรเกิน 45 แอมป์ แต่อันที่จริง ไม่ได้หมายความว่า มิเตอร์นี้จะใช้กระแสไฟฟ้าเกิน 45 แอมป์ไม่ได้นะครับ  ใช้ได้แค่ไหน อยู่ที่ Main Breaker ของบ้านที่เราติดตั้งไว้ โดยอ้างอิงจากข้อกำหนดของการไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ

เช่น มิเตอร์ขนาด 15(45) ในเขต กฟน. (MEA) จะกำหนดให้ใช้ Breaker Main ที่ 50A ดังนั้นเมื่อโหลดรวมของบ้านเกิน 50A หรือ ใกล้เคียง 50A เป็นเวลาต่อเนื่องช่วงนึง Breaker Main ก็จะ Tip ทำให้ไฟฟ้าในบ้านดับ (อาจจะดับก่อนหน้านั้น เป็นบางจุดก็ได้ ขึ้นกับการใช้ไฟของเรา ขอไม่ลงรายละเอียดครับ)

               โดยปกติ การไฟฟ้าจะกำหนดให้เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านรวมแล้วประมาณ 80% ของขนาดของ Breaker Main เพื่อป้องกันไฟดับบ่อย (จาก Breaker Tip นั่นเอง)  ซึ่งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในระบบ 1 เฟส 7.4 kW นั้น จะกินกระแสสูงสุดอยู่ที่ 32 A ตามสเปค ดังนั้นหากต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จรถบนต์ไฟฟ้าร่วมกับการใช้ไฟฟ้าของบ้านแล้ว มิเตอร์ขนาด 15(45) ย่อมไม่เพียงพอแน่นอน ดังนั้น ตามข้อกำหนดเดิม จำเป็นต้องปรับปรุงระบบไฟบ้าน โดยเพิ่มขนาดมิเตอร์เป็นขนาด 30(100) โดยต้องเปลี่ยนสาย Main ที่ออกจากมิเตอร์ไปเข้าตู้ Consumer ในบ้าน จากสายเดิมขนาด 10 sq.mm. หรือบางพื้นที่อาจจะใช้ 16 sq.mm. (ตามข้อกำหนดของ กฟน. ขนาด 10 sq.mm. เพียงพอแล้วครับ) ไปเป็นขนาด 25 หรือ 35 sq.mm. ขึ้นกับการเดินสายไฟของแต่ละบ้าน (รายละเอียดศึกษาเพิ่มเตอมได้จากหนังสือมาตรฐานระบบไฟฟ้า วสท.) รวมไปถึง ต้องเปลี่ยน Breaker Main จากขนาด 50 A เป็น 80A หรือ 100A อีกด้วย

              ต่อมา กฟภ.(PEA) เป็นหน่วยแรกที่เริ่มขยับตัว ด้วยการออกข้อกำหนดเพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยการออกข้อกำหนดขึ้นมาว่า ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า สามารถขอมิเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 มิเตอร์ได้ สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ อีกทั้งยังสามารถขออัตรา TOU (Time Of Use) เพิ่มเติมได้ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขอต้องเป็นชื่อเดียวกับเจ้าของมิเตอร์เดิม (ชื่อผู้ใช้ไฟเดียวกันกับมิเตอร์แรก) แต่สามารถทำหนังสือยินยอมให้ใช้ได้ กรณีชื่อผู้ใช้ไฟ กับเจ้าของรถ เป็นคนละคนกัน และต้องมี Spec ของเครื่องชาร์จที่เป็นของรถยนต์ไฟฟ้าคันดังกล่าวยื่นประกอบด้วย  หมายความว่า หากเราจะขอมิเตอร์ลูกที่สอง ในพื้นที่ของ PEA นั้น เราต้องเป็นเจ้าของรถแล้วเท่านั้น แค่จองก็ยังไม่ได้ หรือแค่วางแผนว่าจะมี หรือ อนาคตจะมีหลายคัน ก็ไม่ได้ 

             ถัดมาไม่นานนัก MEA เอง ก็ออกข้อกำหนดมาเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ MEA จะอ้างอิงมาตรฐานจากทาง วสท. (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) ว่า 1 บ้านเลขที่ จะมีได้เพียงมิเตอร์เดียวเท่านั้น  จึงอนุญาตให้เดินวงจรอีก 1 ชุด ขนานกับวงจรเดิมมา เพื่อมาติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ต้องไปเชื่อมต่อกับมิเตอร์เดิม โดยมีเงื่อนไขว่า Breaker main ของวงจรเดิม(บ้าน) กับ Breaker Main ของวงจรที่สอง (เครื่องชาร์จ) เมื่อรวมกันแล้ว จะต้องไม่เกินขนาดของกระแสสูงสุดของตัวมิเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ (ขออนุญาตใช้ศัพท์ให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ อาจจะไม่ตรงศัพท์นัก กูรูทั้งหลายโปรดให้อภัย) ดังนั้น แม้ว่า MEA จะไม่ได้ออกข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้มิเตอร์ขนาดเท่าไร แต่พอจะคำนวณได้ไม่ยากว่าเราควรจะขอมิเตอร์เพิ่มเป็นขนาดเท่าไรดี   ยกตัวอย่างเช่น หากมิเตอร์เดิม ขนาด 15(45) Breaker Main ขนาด 50A เมื่อเราทำวงจรที่สอง โดยใช้สาย IEC01 ขนาด 10 sq.mm. จะต้องใช้ Breaker ให้เหมาะสมกับขนาดของสาย นั่ยก็คือ 40A ดังนั้น เมื่อรวมขนาดของ Breaker Main ทั้งสองวงจรแล้ว จะได้เป็น 50A+40A = 90A จะเหินพิกัดกระแสสูงสุดของมิเตอร์ลูกเดิมที่ 45 A จึงเป็นสาเหตุว่า เราต้องขอมิเตอร์ลูกใหม่สำหรับทั้งสองวงจรเป็นขนาด 30(100) นั่นเอง

ส่วนเรื่องของมาตรฐานงานติดตั้ง จะขอเขียนในอีกบทความนึงนะครับ จะได้ไม่ยาวจนเกินไป หากผู้อ่านท่านใด มีข้อสงสัย หรือต้องการให้ทีมงาน Captain DIY เข้าดำเนินการเดินระบบไฟฟ้า (ทุกรูปแบบ) สามารถติดต่อได้ทั้งทาง Facebook Fanpage : CaptainDIY หรือทางไลน์ : captaindiy หรือ โทร.0864034253 (ถ้าโทรไม่ติด ไลน์หรือส่งข้อความนะครับ) 

One thought on “การขอมิเตอร์สำหรับติด EV Chager

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *